Custom Search
 


หูฉลาม รังนก ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ จ.กรุงเทพมหานคร

      
     หากพูดถึงอาหารโดดเด่นย่านถนนเยาวราช จ.กรุงเทพมหานคร คงหนีไม่พ้นที่หลาย ๆ คนจะต้องนึกถึงเมนู “หูฉลาม” และ “รังนก” ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากอาหารทั้งสองชนิดนี้เป็นอาหารซึ่งชาวจีนมีความเชื่อว่า เป็นอาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย หาได้ยาก มีราคาแพง จึงถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ แม้ว่ารับประทานแล้วอาจจะทำให้คุณไม่มีเงินซื้ออาหารธรรมดา ๆ ไปอีกหลายมื้อก็ตาม ซึ่งก่อนที่จะตามไปอ่านประสบการณ์ในการรับประทานหูฉลามและรังนกกับทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ทีมงานของเราคิดว่าลองไปทำความรู้จักกับข้อมูลเบื้องต้นของอาหารสองชนิดนี้กันก่อนเพื่อความซาบซึ้ง และเป็นทางเลือกในการตัดสินใจว่าคุณอยากจะบริโภคอาหารสองชนิดนี้หรือไม่กันดีกว่า

     “หูฉลาม” คือ กระดูกอ่อนบริเวณครีบอก กระโดง และส่วนหางของปลาฉลามซึ่งเก็บรักษาไว้โดยการอบแห้ง เมื่อต้องการนำมาปรุงเป็นอาหารก็จะนำมาผ่านกระบวนการต้มทำความสะอาดและดับกลิ่นคาวอีกหลายรอบ จึงจะได้หูฉลามพร้อมที่จะนำมาผัด นึ่ง ตุ๋น หรือต้มปรุงรสให้กลายเป็นอาหารจานเด็ดต่อไป มีความเชื่อกันว่าหูฉลามเป็นอาหารพิเศษที่มีคุณสมบัติในการบำรุงร่างกายอย่างดีเยี่ยม แต่จากการศึกษาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กลับพบว่า แท้จริงแล้วหูฉลามปรุงสำเร็จหนึ่งชามมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับไข่เป็ดฟองเดียวเท่านั้นเอง แถมมีรายงานว่าการรับประทานหูฉลามติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุของการเป็นหมันในผู้ชายได้เนื่องจากพิษของสารปรอทที่ตกค้างในทะเลสะสมอยู่ภายในตัวและครีบของฉลาม และจากเหตุผลในเรื่องของพิษปรอทสะสมนี้เองจึงทำให้องค์กรทางด้านสุขภาพหลาย ๆ แห่งออกคำเตือนไม่ให้สตรีมีครรภ์และเด็ก ๆ บริโภคหูฉลาม

     นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นที่นักชิมทั้งหลายควรพิจารณาในแง่ของการอนุรักษ์ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันใน
หลาย ๆ ประเทศเกี่ยวกับการล่าฉลามเพื่อนำครีบมาบริโภคเป็นหูฉลามว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่? เนื่องจากส่วนอื่น ๆ ของฉลามที่ไม่ใช่ครีบนั้นมักไม่นิยมนำมาบริโภคหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ หมายความว่าการฆ่าฉลามหนึ่งตัวนั้นอาจทำเพียงเพื่อการตัดครีบมาจำหน่ายเท่านั้นเอง ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านการล่าฉลามได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าการกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่คุ้มค่าและทำให้จำนวนฉลามลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอีกด้วย ส่วนฝ่ายที่ยังคงปล่อยให้มีการล่าฉลามอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ให้เหตุผลแย้งว่าฉลามนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายในธุรกิจการทำประมงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะฉลามเสือที่มักจะเข้ามากัดกินปลาที่อยู่ในอวนลากของเรือประมงและหลายครั้งก็ได้กัดทำลายอวนไปด้วย การล่าฉลามนั้นจึงเป็นการควบคุมปริมาณฉลามไม่ให้มีจำนวนมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อธุรกิจการประมงของประเทศ.....อืม..ม.ม.....อ่านแล้วรักใคร เชื่อใคร ชอบเหตุผลของใคร คิดว่าอยากรับประทานหูฉลามหรือไม่? ก็ลองตัดสินใจกันเอาเองนะครับ



รูปภาพอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จปลาย พ.ย. 2555 ครับ/ค่ะ


     ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “รังนก” กันบ้าง “รังนก” ซึ่งนำมาบริโภคกันโดยทั่วไปนั้นคือรังของ “นกนางแอ่น” (บางครั้งก็เรียก “นกอีแอ่น” หรือ “นกแอ่นกินรัง”) ได้มาจากการที่นกนางแอ่นสำรอกน้ำลายออกมาจับตัวแข็งกลายเป็นรังนก ปกตินกนางแอ่นจะสร้างรังเพื่อวางไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนตามผนังถ้ำปีละ 2 – 3 ครั้ง (ถ้ำซึ่งนกนางแอ่นเลือกทำรังนั้นส่วนใหญ่จะเป็นถ้ำแถบชายทะเล แต่ปัจจุบันมีการสร้างบ้าน/อาคารให้นกนางแอ่นเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อเก็บรังนกด้วย) โดยมีพฤติกรรมสร้างรังทดแทนในที่เดิมกับรังที่ถูกเก็บไป ซึ่งในกรณีที่ไม่มีการเก็บรังนก นกนางแอ่นก็จะสร้างรังใหม่ทับรังเดิมอยู่ดี ปกติผู้ทำสัมปทานเก็บรังนกที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์จะเลือกเก็บรังนกภายหลังจากที่นกนางแอ่นวางไข่และเลี้ยงดูลูกนกเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะหากเก็บรังนกไปก่อนที่จะมีการวางไข่ พ่อแม่นกนางแอ่นจะต้องสร้างรังขึ้นใหม่และเลื่อนการวางไข่ให้นานออกไปอีก

     สำหรับข้อมูลด้านโภชนาการจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าใน 100 กรัมของรังนกแท้นั้นจะมีส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณเป็นโปรตีนร้อยละ 54 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 23.3 น้ำร้อยละ 16.2 ไขมันร้อยละ 0.3 และอื่น ๆอีกร้อยละ 5.9 อีกทั้งยังพบด้วยว่ารังนกแท้นั้นมีสารซึ่งช่วยในการเจริญของเยื่อบุผิว (Epidermal Growth Facter) มีสารที่ช่วยในการส่งเสริมการทำงานของเซลล์ภายในระบบภูมิคุ้มกันโรค ช่วยยับยั้งการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด และอาจช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้นศูนย์การแพทย์แผนโบราณของจีนยังมีการแนะนำให้บริโภครังนกเพื่อช่วยในการรักษาโรคทางเดินหายใจอีกด้วย ( เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยวัณโรคในระยะพักฟื้น เป็นต้น) รังนกที่นำมารับประทานนั้นส่วนใหญ่มักจะปรุงโดยการตุ๋นกับโสม ตุ๋นกะทิ หรือ ตุ๋นกับไข่.....อืม...ม..ม.....บรรยายมาซะเยอะแยะขนาดนี้ หลาย ๆ คนอาจจะอยากรู้แล้วว่าเรื่องรสชาติและราคาจะเป็นอย่างไร? งั้นลองตามมาดูในย่อหน้าถัดไปกันเลย


     ร้านอาหารที่ปรุงหูฉลามและรังนกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในย่านเยาวราชนั้นมีหลากหลายระดับตั้งแต่ร้านรถเข็นแผงลอย ,ร้านห้องเช่าเล็ก ๆ ไปจนกระทั่งถึงภัตตาคารหรู ร้านอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมีรายการอาหารเป็นเล่ม ๆ วางเอาไว้ให้ด้านหน้าร้าน คุณสามารถเปิดดูภาพถ่ายและราคาของอาหารแต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกร้านที่จะเข้าไปรับประทานได้อย่างสะดวกสบาย [ขอเตือนไว้ก่อนว่า อาหารที่คุณได้รับประทานจริง ๆ นั้นอาจจะมีหน้าตาแตกต่างกับภาพถ่ายชนิด “อึ้งกิมกี่” เลยก็เป็นได้ เช่น สั่ง “รังนกแดงชั้น 1” ราคาแพงตุ๋นมะพร้าวกลับได้อาหารซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับ “รังนกแดงชั้น 3” ราคาถูกมาแทน (“รังนกแดงชั้น 3” นั้นมีราคาถูกกว่า "รังนกแดงชั้น 1" ถึงครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถดูภาพรังนกแดงชั้น 1 ปรุงสำเร็จ และภาพรังนกแดงชั้น 3 ปรุงสำเร็จจากรายการอาหารของร้านนั้น ๆ เปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจไ้ด้อยู่แล้วครับ).....แต่ตอนคิดราคาจ่ายเงินน่ะดันคิดราคาแบบ "รังนกแดงชั้น 1" คร้าบ.....บ....บ..บ.บ !!.....ไม่ทึ่ง.....ไม่อึ้ง.....ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว!! หากใครไม่อยากเจอประสบการณ์แบบนี้ก็ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ให้ดี ๆ ก่อนตัดสินใจเข้าไปในร้านใดร้านหนึ่งนะครับ] ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมลองเดินสำรวจรายการอาหารของหลาย ๆ ร้านเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลจนในที่สุดก็ตัดสินใจเดินเข้าไปในภัตตาคารจีนแห่งหนึ่งริมถนนเยาวราช



รูปภาพอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จปลาย พ.ย. 2555 ครับ/ค่ะ


     ภัตตาคารซึ่งทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเข้าไปนั่งสั่งอาหารนี้เป็นภัตตาคารขนาดไม่ใหญ่นัก มีการสร้างตู้จัดวางหูฉลามและรังนกเอาไว้บริเวณผนังด้านข้างอย่างเป็นระเบียบดูสวยงามละลานตา พวกเราลองเปิดรายการอาหารสำรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็พบว่ามีการจัดแบ่งหูฉลาม – รังนกออกเป็นหลากหลายระดับคุณภาพ(ชั้น)และราคา ตามปกติหูฉลามซึ่งถือว่ามีคุณภาพดีและมีราคาแพงที่สุดนั้นจะต้องเป็นหูฉลามชิ้นใหญ่ติดกันเป็นวงสวยงามคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว (ยิ่งขนาดใหญ่เท่าไหร่ยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น) ส่วนหูฉลามซึ่งถือว่ามีคุณภาพด้อยลงมาและราคาถูกกว่า คือ เศษหูฉลามที่แตกเป็นเส้น ๆ เละ ๆ สำหรับรังนกนั้นจากการสำรวจจะพบว่า “รังนกแดง” มีราคาแพงกว่า “รังนกขาว” โดยทั่วไป เนื่องจากผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่า รังนกแดงเป็นรังนกซึ่งได้มาจากการสำรอกน้ำลายปนเลือดของนกนางแอ่นและหาได้ยากกว่า แต่จากการศึกษาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบในภายหลังว่า “สีแดง” ที่ปะปนอยู่ภายใน “รังนกแดง” นั้นเกิดขึ้นจากสนิมในถ้ำที่นกทำรังไว้ได้รับความชื้นสูงจึงละลายแทรกซึมเข้าไปในรังโดยเฉพาะรังที่นกสร้างขึ้นในช่วงฤดูฝน ในความเป็นจริงแล้วรังนกซึ่งถือว่ามีคุณภาพดีและมีราคาแพงที่สุดนั้น ได้แก่ รังนกขาวซึ่งได้มาจากการสำรอกน้ำลายของนกนางแอ่นครั้งแรกในช่วงฤดูหนาว ตัวรังนกจะเป็นสีขาวบริสุทธิ์ (หากคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ก็คงยากจะทราบได้ว่ารังนกขาวอันไหนเป็นรังที่ได้จากการสำรอกน้ำลายของนกนางแอ่นครั้งแรกในช่วงฤดูหนาวครับ)

     
ตัวอย่างราคาของหูฉลามและรังนกปรุงสำเร็จของร้านอาหารในย่านเยาวราชมีดังนี้

         หูฉลามเล็กน้ำแดง ราคาประมาณ 300 - 1,200 บาท
         หูฉลามกลางน้ำแดง ราคาประมาณ 500 - 1,500 บาท
         หูฉลามใหญ่เป๋าฮื้อน้ำแดง ราคาประมาณ 1,000 - 3,500 บาท
         รังนกขาวชั้น 3 ตุ๋น ราคาประมาณ 100 - 200 บาท รังนกแดงชั้น 3 ตุ๋น ราคาประมาณ 200 - 400 บาท
         รังนกขาวชั้น 1 ตุ๋นมะพร้าว ราคาประมาณ 500 - 1,000 บาท
         รังนกแดงชั้น 1 ตุ๋นมะพร้าว ราคาประมาณ 500 - 1,000 บาท
         รังนกขาวชั้น 1 ตุ๋นกะทิ ราคาประมาณ 500 - 1,000 บาท
         รังนกแดงชั้น 1 ตุ๋นกะทิ ราคาประมาณ 500 - 1,000 บาท

     (ราคาของอาหารแต่ละรายการขึ้นอยู่กับปริมาณที่สั่งว่าเป็นขนาดหม้อ/ชาม เล็ก กลาง หรือใหญ่ด้วย)

     หลังจากที่นั่งถอนหายใจกับราคาอยู่สักพัก ทีมงานของเราก็ตัดสินใจสั่ง “หูฉลามกลางน้ำแดง(ราคา 500 บาท) และ “รังนกแดงชั้น 1 ตุ๋นมะพร้าว(ราคา 500 บาท.....เช่นกัน) มาลองรับประทาน หลังจากนั่งรออยู่ประมาณ 20 นาที หูฉลามกลางน้ำแดงในหม้อดินก็ถูกยกมาตั้งไว้ตรงหน้าพร้อมถ้วยแบ่ง และเครื่องเคียง(ถั่วงอกเด็ดหัว ,ต้นหอม และผักชี) พวกเรานั่งเพ่งพินิจพิจารณาดูหูฉลามซึ่งอยู่ในหม้อก็พบว่ารูปร่างลักษณะค่อนข้างจะแตกต่างจากภาพในรายการอาหารพอสมควร เพราะภาพหูฉลามกลางน้ำแดงที่อยู่ในรายการของทางร้านนั้นมีลักษณะเป็นชิ้นคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสวยงาม แต่หูฉลามกลางน้ำแดงที่อยู่ตรงหน้ากลับดูเป็นชิ้นแตก ๆ ชอบกล อย่างไรก็ตามด้วยความหิวทำให้พวกเรารีบจ้วงตักแบ่งหูฉลามมาแบ่งกันทันที หูฉลามกลางน้ำแดงหม้อนี้ตักแบ่งได้ประมาณ 4 - 5 ถ้วย (ตักแบ่งแบบได้เนื้อหูฉลามเต็ม ๆ คำ.....แต่ก็ไม่ใช่ว่าเต็มคำจนขนาดรับประทานเพียงแค่ถ้วยเดียวแล้วจะอิ่มนะครับ)

     ในเรื่องของรสชาติของหูฉลามน้ำแดงนั้นหากจะให้อธิบายว่ามันเหมือนอะไร ? ก็คงลำบากเพราะหูฉลามเป็นอาหารที่มีรสชาติเฉพาะตัว (ตัว "หูฉลาม" เองจะมีรสชาติค่อนข้างจืดแต่เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารแล้วจะมีรสแตกต่างกันไปตามชนิดของอาหารและเครื่องปรุงต่าง ๆ) รู้แต่ให้ความรู้สึกกรุบ ๆ คล้ายกับรับประทาน "บุกเส้น" ซึ่งมีขนาดเส้นเล็กมาก ๆ นำมาเรียงต่อกันเป็นแพ (แต่ "หูฉลาม"จะมีความหยุ่นเหนียวมากกว่า "บุก") ส่วนน้ำแดงนั้นก็รสชาติเหมือน ๆ กับน้ำแดงที่ปรุงเป็น "กระเพาะปลาน้ำแดง" โดยทั่วไปไม่หนีห่างกันสักเท่าไหร่.....แต่ถ้าให้สรุปก็คงต้องบอกว่า "หูฉลามน้ำแดง" นั้นอร่อยกว่า "กระเพาะปลาน้ำแดง" อยู่พอสมควร (บางคนซึ่งเคยรับประทานอาหารทั้งสองชนิดนี้มาแล้วอาจจะแย้งทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมว่า "กระเพาะปลาน้ำแดง" อร่อยกว่า "หูฉลามน้ำแดง" ก็เป็นได้ เนื่องจากแต่ละคนก็มีความชอบมีความรู้สึกสัมผัสต่อสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไป)

     ประมาณ 30 นาทีภายหลังจากหูฉลามน้ำแดงถูกยกมาเสิร์ฟ รังนกแดงชั้น 1 ตุ๋นมะพร้าวก็ถูกนำมาตั้งตรงหน้าพวกเราเป็นรายการถัดมา อีกครั้งที่พวกเราต้องมึนงงกับความแตกต่างของภาพในรายการอาหารกับตัวอาหารจริง ๆ ซึ่งถูกยกมาวางตรงหน้า เนื่องจากในภาพรายการอาหารนั้น “รังนกแดงชั้น 1 ตุ๋นมะพร้าว” ราคา 500 บาท ตัวรังนกจะมีสีม่วงแดงเข้มเป็นชิ้นเส้น ๆ บรรจุอยู่ภายในลูกมะพร้าว แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของพวกเราก็คือ รังนกเละ ๆ คล้ายวุ้นสีเหลืองแกมน้ำตาลแตกต่างกับในภาพอย่างสิ้นเชิง สำหรับรังนกแดงชั้น 1 ตุ๋นมะพร้าว ราคา 500 บาทลูกนี้ สามารถตักแบ่งใส่ถ้วยแบ่งได้ประมาณ 4 – 5 ถ้วยเช่นเดียวกันกับหูฉลามกลางน้ำแดง ราคา 500 บาท รสชาติอร่อยถึงใจ (แม้ว่าพวกเราจะรู้สึกเซ็ง ๆ บ้างที่หน้าตามันไม่เหมือนภาพในรายการอาหารก็ตาม) ตัวรังนกนั้นจะให้สัมผัสคล้าย ๆ กับวุ้นที่ตีจนเละแล้วนำมาตุ๋นใส่ลูกมะพร้าว เนื้อมะพร้าวนุ่มนิ่มจนสามารถเลาะเนื้อออกมาได้ทั้งลูก รับประทานคู่กันได้รสหวานมันอ่อน ๆ สามารถรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่ามะพร้าวที่ใช้นั้นเป็นมะพร้าวอ่อนจริง ๆ สอบผ่านทั้งในเรื่องคุณภาพและความอร่อย


 

รูปภาพอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จปลาย พ.ย. 2555 ครับ/ค่ะ



     แม้ว่าการรับประทานรังนกนั้นอาจจะให้ความพึงพอใจในแง่ของความเอร็ดอร่อย รวมถึงคุณประโยชน์ทางด้านสุขภาพบางประการได้ก็ตาม แต่คำถามหนึ่งซึ่งหลาย ๆ คนคงจะมีอยู่ในใจไม่มากก็น้อย คือ มันคุ้มค่าหรือไม่? ในขณะที่ยังมีอาหารสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งอาจจะสามารถให้ผลดีแก่ร่างกายได้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับผลดีที่ได้รับจากรังนกแต่ราคาถูกกว่าหลายเท่า (เช่น อาหารผัก สมุนไพร และผลไม้ปลอดสารพิษหลากสีต่าง ๆ ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการต้านหวัด ชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ฯลฯ) สำหรับคำตอบตรงนี้พวกเราคิดว่าคุณเองก็อาจจะหาคำตอบได้ด้วยตนเองอย่างไม่ยากเย็นนัก โดยลองเริ่มจากการตอบคำถามที่ว่า “คนซึ่งมีอายุยืนและมีสุขภาพที่แข็งแรง (เช่น คนที่มีอายุเกิน 100 ปี ในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแถบทวีปยุโรป หรือเอเชียก็ตาม) ทุก ๆคน คือ คนที่บริโภครังนกเป็นประจำใช่หรือไม่? หรือว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องบริโภคอาหารราคาแพงลิบลิ่วต่าง ๆ ก็สามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีชีวิตที่ยืนยาวได้?” ซึ่งหากจะพูดถึง “หูฉลาม” และ “รังนก” ในมุมมองของพวกเราทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมล่ะก็ คิดว่าการได้มารับประทานอาหารทั้งสองชนิดนี้เป็นประสบการณ์พิเศษอันน่าจดจำหนึ่งในหลาย ๆอย่างที่พวกเราเคยได้รับ แต่ก็คงไม่เลือกที่จะรับประทานอาหารทั้งสองชนิดนี้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อหวังผลในการบำรุงสุขภาพ หรือผลด้านความเอร็ดอร่อยพึงพอใจอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การให้คุณค่าในการรับประทาน “หูฉลาม” และ “รังนก” นั้น เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลต้องตัดสินใจด้วยตนเอง คงไม่มีใครสามารถให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆในชีวิตของคุณได้นอกจากตัวคุณเองครับ

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ย่านไชน่าทาวน์เมืองไทย)

การเดินทาง : มีร้าน "หูฉลาม" และ "รังนก"ปรุงสำเร็จอยู่เกือบตลอดความยาวของถนนเยาวราช นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินเปิดดูภาพรายการอาหารพร้อมทั้งราคาก่อนตัดสินใจได้อย่างสะดวกสบาย
รถยนต์ส่วนตัว
มีที่จอดรถยนต์อยู่บนถ.ทรงสวัสดิ์ (ที่จอดรถเฉลิมบุรี) , ถ.ผดุงด้าว (อาคารจอดรถเท็กซัสสุกี้) , ถ.เยาวพานิช (อาคารฮั่วเซ่งเฮงและวัดชัยภูมิการาม) , ถ.พาดสาย (สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย) , ถ.แปลงนาม (วัดมงคลสมาคม) และ ถ.เยาวราช (อาคารกาญจนทัตและห้างคาเธ่ย์) นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถตามสถานที่จอดรถต่าง ๆ แล้วเดินมายัง ถ.เยาวราช เพื่อหาร้าน "หูฉลาม" และ "รังนก" ที่ถูกใจได้
รถประจำทาง
ขึ้นรถเมล์สายใดก็ได้ที่ผ่าน ถ.เยาวราช ( รถเมล์สายที่ผ่านเยาวราช ได้แก่ สาย 1, 4, 7, 25, 35, 40, 48, 53, 73, 159, 170, 507 )

หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูลร้าน "หูฉลาม" และ "รังนก" ย่านถนนเยาวราช เมื่อเดือน มิ.ย. 2553 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในขณะปัจจุบัน

ขอขอบคุณ : ข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับหูฉลามและรังนกบางส่วนจาก สสวท. , บทความ “วิทยาศาสตร์กับจังหวัดชุมพร” , ข้อมูลการเดินทางย่านเยาวราชจากหนังสือ “สะพายเป้ ขึ้นรถเมล์ ทัวร์กรุง” โดย รัตนวุฒิ เจริญรัมย์ สำนักพิมพ์อักษรข้าวสวย และหนังสือ “หอเจี๊ยะ เยาวราช” โดย หนู – จุ่น ชวนชิม สำนักพิมพ์สารคดี




 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)



บทความและภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม
(www.Thongteaw.com)
หากผู้ใดทำการคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขหรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน
จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154